Image
IATF insight

ทำความเข้าใจกับมาตรการของ IATF

ในการตอบสนองต่อ COVID-19

Jun. 16 2020 - ธีรเดช วิบูลพัฒนะวงศ์ (IATF16949 Lead Auditor) - 5 min

IATF GLOBAL WAIVERS AND MEASURES IN RESPONSE TO THE CORONAVIRUS PANDEMIC (COVID-19) คืออะไร?


เมื่อ 8 มิถุนายน 2563 นี้ ทาง IATF ได้มีการปรับปรุงเอกสาร IATF GLOBAL WAIVERS AND MEASURES IN RESPONSE TO THE CORONAVIRUS PANDEMIC (COVID-19) เป็น Rev. 3 โดยเอกสารนี้ คือ กฎเกณฑ์เสริมในการตรวจประเมินให้การรับรอง IATF16949: 2016 ในช่วงการ ระบาดของโรคระบาดใหญ่ COVID-19 ซึ่งเป็นการ “Waive” หรือ “ผ่อนปรน” กฎเกณฑ์เดิมใน Rules for achieving and maintaining IATF recognition - 5th Edition ซึ่งเป็นกฎในการตรวจ ประเมิน IATF16949 ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

หมายเหตุ: เนื่องจากเอกสารนี้ชื่อยาวมาก จึงมีคนเรียกกันสั้น ๆ ว่า “IATF Global Waiver” บ้าง หรือ “IATF COVID Measures” บ้าง หรือในชื่อย่ออื่น ๆ ในบทความนี้ จะเรียกว่า “กฎเสริม”


IATF GLOBAL WAIVERS AND MEASURES IN RESPONSE TO THE CORONAVIRUS PANDEMIC (COVID-19) มีการปรับปรุงแก้ไขไปแล้วทั้งหมดกี่ครั้ง?

โดยรวมแล้ว IATF ได้ออกเอกสารเพื่อ “ผ่อนปรน” กฎการตรวจประเมินให้การรับรอง ไปทั้งหมด 6 ครั้ง

โดยตอนแรก IATF ออกเป็นเอกสารที่เรียกว่า CB Communique ซึ่งก็คือ เอกสารสื่อสารคำสั่งข้อปฏิบัติจาก IATF ไปยัง Certification Bodies ทั้งหลายให้ปฏิบัติตาม ซึ่งฉบับแรกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ จะครอบคลุมเฉพาะในประเทศจีนเท่านั้น ต่อมา CB Communique ฉบับเดือนมีนาคมได้ขยายความให้ครอบคลุมประเทศต่าง ๆ นอกเหนือจากประเทศจีน และมีการเปลี่ยนรูปแบบเอกสารเป็น IATF Global Waivers and Measures in response to the Coronavirus Pandemic (COVID-19) ในปลายเดือนมีนาคมจะเห็นได้ว่า IATF ได้มีการปรับปรุงแก้ไขเนื้อหา กฎการผ่อนปรนนี้ เป็นระยะ ๆ ตามสถานการณ์ COVID-19 และคงจะมีการปรับปรุงอีกในอนาคต

ในบทความนี้ เราจะมาทำความเข้าใจกับเอกสารในฉบับ REV. 3 นี้

ทำไมต้องผ่อนปรนกฎ ?

หากมองตามจังหวะเวลาเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 แล้วการแพร่ระบาดทั่วโลกเกิดขึ้น ในช่วงต้นปี 2020 สำหรับองค์กรที่ได้รับการรับรอง IATF16949 จะมีรอบการตรวจประเมิน (Audit Cycle) ประจำปีแตกต่างกัน บ้างก็ตรวจต้นปี บ้างก็กลางปี หรือปลายปี ซึ่งตาม Rules 5th Edition องค์กรต่าง ๆ ต้องได้รับการตรวจประเมินตามรอบการตรวจประเมินของตนเองให้ตรงเวลาเสมอ มิฉะนั้นจะมีผลกระทบต่อสถานะการรับรอง ตั้งแต่การพักการรับรอง จนถึงการถอนการรับรอง

เมื่อประเทศต่าง ๆ มีมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ประชาชนออกนอกบ้านไม่ได้ ประชาชนเดินทางไปทำงานไม่ได้ย่อมไม่สามารถเกิดการตรวจประเมินตามรอบการตรวจประเมิน (Audit Cycle) ขององค์กรได้ หาก IATF ไม่ผ่อนคลายกฎ องค์กรที่มีรอบการตรวจประเมินช่วงที่มีมาตรการควบคุม ตั้งแต่ประมาณเดือนมีนาคม 2563 จะได้รับผลกระทบในด้านสถานะการรับรอง ทั้งนี้ประเทศต่าง ๆ ก็คาดการณ์ว่ามาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะได้ผลทำให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ และธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้เป็นปกติ ในเวลาไม่กี่เดือน

ในแง่นี้ องค์กรที่มีรอบการตรวจประเมิน (Audit Cycle) อยู่ช่วงปลายปีน่าจะเลยช่วงเวลาที่แต่ละประเทศมีมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างเข้มข้น องค์กรเหล่านี้จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขอผ่อนปรนตามกฎเสริมนี้ แต่ให้ปฏิบัติตามกฎใน Rules 5th Edition ตามปกติ และตรวจประเมินตามรอบการตรวจประเมิน (Audit Cycle) เดิม

IATF GLOBAL WAIVERS AND MEASURES IN RESPONSE TO THE CORONAVIRUS PANDEMIC (COVID-19) เกี่ยวข้องอย่างไรกับเรา?

เนื่องจากเอกสารนี้ คือ กฏเสริมในการ “ผ่อนปรน” กฎการตรวจประเมินให้การรับรองจาก Rules 5th Edition ภายใต้สถานการณ์โรคระบาดใหญ่ COVID-19 ดังนั้น โดยตัวเอกสารนี้เอง จะใช้ได้กับองค์กรที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เท่านั้น

โดยเนื้อหาหลักของการผ่อนปรน คือ การยืดระยะเวลา ตาม Rules 5th Edition ของช่วงกิจกรรมต่าง ๆ ใน การตรวจประเมิน หรือ การให้การรับรองให้ยาวออกไปโดยในเอกสาร Rev.3 หน้า 6 GENERAL REMARKS ใช้คำว่า “prolongation of activities”

Image
Mr.Teeradej
อาจารย์ธีรเดช
วิบูลพัฒนะวงศ์

IATF16949 Lead Auditor

Bureau Veritas Thailand

ผมได้เขียนบทความอธิบาย IATF Global Waiver
เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับ Auditees และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่านครับ